วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
แรงบันดาลใจคือพลังขับเคลื่อนให้คนเราก้าวไปข้างหน้า และทำในสิ่งที่เหนือกว่าคนทั่วไป ดังเช่น วิชัยเจริญ แสนชัยรุ่ง ที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เดินทางสู่จังหวัดเชียงราย ซื้อที่ดิน 40 ไร่ เปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้สวนเอเดน เกษตรอินทรีย์เศรษฐกิจพอเพียง” ณ หมู่บ้านสบห้วย ต.จอมหมอกแก้ว อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เดินตามรอยทฤษฎีศาสตร์พระราชา ปัจจุบันนอกจากจะเป็นประธานศูนย์เรียนรู้สวนเอเดนเกษตรอินทรีย์เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ยังเป็นหัวหน้าระบบชุมชนรับรองออร์แกนิคแบบมีส่วนร่วม (participatory guarantee system : PGS) แม่ลาว เป็นคณะกรรม PGS ออร์แกนิก เชียงราย และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธาน โคก หนอง นา เชียงราย เมื่อ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
คุณวิชัยเจริญ เล่าถึงการทำงานของ โคก หนอง นา เชียงราย ว่า เป็นคณะทำงานจิตอาสา สานต่องานของพ่อ คือพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยจะดูว่าพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายต้องการอะไร อยากให้เข้าไปช่วยเหลือเรื่องอะไร เช่น บางคนไม่มีแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ ก็จะไปช่วยทำฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า ปลูกป่า ออกแบบพื้นที่ โดยจะเน้น “เอามื้อ” คือความสามัคคีเป็นที่ตั้ง ใครต้องการเอามื้อปลูกต้นไม้ ทำคลองไส้ไก่ ดายหญ้า ตัดหญ้า สร้างบ้าน สร้างกระท่อม ได้หมด
“กฎกติกาของเราคือเราช่วยเกษตรกรทุกราย แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่ใช้ปุ๋ยเคมีทุกชนิด ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่เผาใบไม้กิ่งไม้ โดยในพื้นที่หนึ่งจะอนุญาตให้เผาแค่จุดเดียว เผาเท่าที่จำเป็น อย่างกรณีใบไม้ใบหญ้าเหล่านี้เราจะไม่ให้เผาเลย เพราะว่าสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้ และจะเน้นเรื่องห่มดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ถ้าดินดีก็เลี้ยงพืชได้ ล่าสุดเราก็ขึ้นไปทำ “หุบเขาสมุนไพรไทย” ที่หมู่บ้านห้วยส้านอาข่า หมู่ 9 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว เชียงราย ไปออกแบบสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเขา เพื่อเพิ่มออกซิเจน ลดปัญหาโลกร้อน พร้อมกันนี้ เรายังคิดต่อยอดว่าจะทำยังไงให้พี่น้องเหล่านั้นมีรายได้ ก็ประสานงานหน่วยงานหรือว่าสถาบันต่างๆเข้ามา ยกตัวอย่าง ตอนนี้เราประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำกล้าสมุนไพรที่อาจารย์ต้องการไปให้เกษตรกรปลูกดูแล และรับซื้อคืน เป็นต้น”
ปัจจุบัน โคก หนอง นา เชียงราย มีสมาชิกในไลน์ค่อนข้างเยอะ แต่ว่าที่ออกมาร่วมกันทำกิจกรรมจริงๆประมาณ 20 กว่าคน จัดตั้งเป็นคณะกรรมการ 13 ท่าน มีหน้าที่รับผิดชอบชัดเจน
“ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เราไปทำฝายชะลอน้ำบ้านหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า มีตัวแทนอำเภอ นายกเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ป่าไม้ มาร่วมกันเยอะพอสมควร 50 กว่าคน คือเมื่อเราไปแต่ละสถานที่เจ้าถิ่นก็จะมาร่วมกันเยอะ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา แต่เราทำเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม ช่วยพื้นที่เหล่านั้นให้มีความชุ่มชื้น มีน้ำ บางกรณีที่เกษตรกรมีปัญหา เช่น ต.แม่ยาว อ.เมือง พี่น้องเกษตรกรอยู่ในเชิงเขา ไม่มีแหล่งน้ำ เราก็ไปช่วยทำฝายชะลอน้ำ จากน้ำป่าที่ไหลก็ผลักเข้าแปลงผัก ให้มีน้ำใช้ อีกแห่งที่ อ.แม่ฟ้าหลวง เขามีแหล่งน้ำ แต่ไม่สามารถนำน้ำขึ้นไปใช้บนดอยได้ เราก็ไปช่วยแก้ปัญหาด้วยการทำฝายชะลอน้ำและทำตะบันน้ำ เสร็จแล้วก็ดึงน้ำขึ้นดอย เมื่อมาถึงบนดอยแล้วก็ทำคลองไส้ไก่วิ่งกลับไปเหมือนเดิม ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี มีความชื้น ลดปัญหาเรื่องไฟป่าด้วย”
ในปีที่ผ่านมา โคก หนอง นา เชียงราย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้ร่วมโครงการ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เสริมสร้างสังคมไทยให้แข็งแรง ด้วยการสร้างโอกาสให้แก่บุคคลด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดให้ได้มีโอกาสกลับตัวและมีที่ยืนในสังคมต่อไป โดยได้รับมอบหมายให้ดูแล 3 จุดคือ เรือนจำเทิง เรือนจำกลางเชียงราย และเรือนจำพะเยา
“ผมได้รับผิดชอบให้ดูแลอำเภอเทิง อบรมหลักสูตร 14 วันก่อนออกสู่โลกภายนอก ในอำเภอเทิงเราได้อบรม 5 รุ่นๆละ 100 คนก็ 500 คน หลังจากเขาออกมาจากเรือนจำกลับบ้าน ท่านใดที่สนใจติดต่อเข้ามาเราก็ยังตามไปดูแล ให้กำลังใจ ออกแบบพื้นที่ให้เขา เพื่อให้เขามีที่ยืนในสังคม และเป็นที่ยอมรับของสังคม ช่วยออกแบบโครงสร้างพื้นที่ เช่น เขามีพื้นที่ 1 งาน 2 งาน 1 ไร่ 2 ไร่ หรือ 10 ไร่ เราก็ออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง ถ้าพื้นที่ของเขาเป็นแบบนี้เราจะทำยังไง บริหารจัดการน้ำยังไง ขุดคลองให้ด้วย ไม่ได้ออกแบบอย่างเดียว เพราะว่าเราจะเน้นให้เขารู้จริง เข้าใจจริง และปฏิบัติได้จริง อันนี้คือหลักของเรา เราจะสอนเขาว่าการทำงานต้องทำน้อยไปหามาก ทำง่ายไปหายาก เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง ประเมินกำลังของตัวเอง อย่าไปตามกระแส สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการวางแผนตามรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตรงนี้เป็นหนอง ตรงนี้เป็นโคก ตรงนี้เป็นแปลงผัก ตรงนี้เป็นบ้านพัก เสร็จแล้วเราจะทำยังไงให้น้ำกระจายในพื้นที่แปลงของเราโดยไม่ต้องใช้ท่อพีวีซี ก็ต้องทำคลองไส้ไก่ เสร็จแล้วก็สอนให้เขาปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกต้นไม้ สิ่งสำคัญคือปุ๋ย เราสอนสูตรการทำปุ๋ยน้ำ ปุ๋ยหมัก อาหารสัตว์ อาหารปลา ให้เขาพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้าเราทำการเกษตรแล้วยังต้องไปซื้อปัจจัยข้างนอกเป็นส่วนใหญ่ เกษตรกรก็คงไปไม่รอด เพราะฉะนั้นเราก็จะไปสอนองค์ความรู้ต่างๆเหล่านี้ให้เขา หลังจากสอนเสร็จแล้ว เขาปลูกได้แล้ว ก็จะสอนการแปรรูป ทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างรถ แชมพู ยาดม ยาหม่อง ยากันยุง เน้นใช้เองก่อน ถ้าใช้ดีก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน เหลือมากกว่านั้นค่อยจำหน่าย ตามทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง คือ ขั้นที่ 1 พอกิน ขั้นที่ 2-4 พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ขั้นที่ 5-6 บุญและทาน ขั้นที่ 7 เก็บรักษา ขั้นที่ 8 ขาย ขั้นที่ 9 เครือข่าย กองกำลังเกษตรโยธิน
ในด้านการตลาดคุณวิชัยเจริญได้ช่วยนำผลผลิตของเกษตรกรออกจำหน่าย ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่งคุณวิชัยเจริญจะมีเครือข่ายผู้บริโภคที่รู้จักสินค้าเกษตรอินทรีย์อยู่ทั่วประเทศ
“ก่อนหน้านี้ ผมเคยแนะนำสับปะรดอินทรีย์ที่สวนเอเดนให้เพื่อนๆ และเครือข่ายในระบบออนไลน์ว่าเป็นสับปะรดที่เราปลูกโดยปราศจากสารเคมี ทำปุ๋ยเอง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ไม่เผา มีคุณสมบัติพิเศษคือไม่กัดลิ้น ลูกค้าที่เคยได้กินก็จะจำรสชาติได้ เวลาผลผลิตออกมา เขาก็จะสั่งจองมา ส่วนหนึ่งเราขาย อีกส่วนหนึ่งบริจาคให้โรงพยาบาลบ้าง โรงพยาบาลสนามบ้าง หรือองค์การกุศลต่างๆ หลายที่ที่ต้องการก็จะแจ้งเข้ามา เราก็ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องที่มีจิตอาสาอยากร่วมผ่านทางไลน์กลุ่ม เขาก็บริจาคค่าจัดส่งมาให้ บางคน 300 บาท บางคน 200 บาท บางคน 100 บาท แล้วแต่กำลังของแต่ละคน เมื่อเราจัดส่งแล้วก็ทำบัญชีว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ เป็นค่าอะไรบ้าง แต่สับปะรดไม่ต้องซื้อ เพราะเป็นของผมบริจาคเอง เมื่อเราแนะนำผลผลิตของเกษตรกรผ่านทางออนไลน์ ผู้บริโภคก็เชื่อมั่นว่าเราแนะนำของดีให้กับเขา เราทำกันเองโดยไม่มีหน่วยงานสนับสนุน พยายามพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด แต่ถ้ามีหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนเราก็ยินดี ไม่ปฏิเสธ แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มี”
คุณวิชัยเจริญ เล่าถึงแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงาน “จิตอาสา” ว่า
“เมื่อ 20 ก่อนผมเป็นผู้จัดการเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน-เมียนมา ทำงานมาประมาณ 8 ปี อิ่มตัว ลาออกมาเป็นเซลล์ขายสินค้า วันหนึ่งผมไปส่งของที่อำเภอหนึ่ง เขาเปิดร้านค้าด้วย ทำการเกษตรด้วย เป็นคนสนิทสนมกัน เราเห็นเขากำลังขนผลไม้ไปส่งในตัวจังหวัด ก็ถามว่าขอซื้อกลับไปกินได้ไหม เขาบอกว่าไปเก็บที่แปลงหลังบ้านดีกว่า เป็นผลไม้เกษตรอินทรีย์ กินแล้วมีความสุข ก็เลยคิดว่าถ้าผมกินแบบไหนแล้วขายแบบนั้นให้ผู้บริโภคผมคงจะมีความสุขมาก เป็นความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้บริโภค หลังจากนั้นผมจึงศึกษาโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยากทำเกษตรผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ท่านตรัสสอน จึงไปปรึกษากับเพื่อนๆว่าเห็นด้วยไหม ปรากฏว่าเพื่อนๆ 99% ไม่เห็นด้วย บอกว่าทำธุรกิจค้าขายดีอยู่แล้วจะไปทำเกษตรทำไม ยิ่งพวกเขาไม่เห็นด้วยผมยิ่งอยากทำ คิดว่าถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่ดีจริงพระองค์ท่านจะตรัสสอนทำไม ประกอบกับช่วงนั้น ผมเป็นจิตอาสาคณะปิดทองหลังพระ เกี่ยวกับการทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า ทำแนวกันไฟ อยากนำประสบการณ์มาสานต่อ กระทั่งมีโอกาสได้มาซื้อที่อยู่ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2556 พื้นที่ประมาณ 40 ไร่ พี่น้องเกษตรกรที่เขาทำอยู่ไม่มีกำลังทำ เราก็เลยมาคุยว่าขอทำต่อได้ไหม ชดใช้ค่าพื้นที่ให้กับเขา เป็นพื้นที่รกร้าง ไม่มีแหล่งน้ำ ถนนก็ไม่ดี ต้องพัฒนาเองทั้งหมด ตอนหลังมีพี่น้องแถวนี้มาช่วยก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำลำห้วย ทำฝายชะลอน้ำ ทำฝายดักตะกอน ทำฝายเก็บน้ำ ทำแก้มลิง เก็บน้ำฝนทุกเม็ด ตั้งชื่อว่า “สวนเอเดน” มาจากพระคัมภีร์ เนื่องจากผมเป็นคริสเตียน ปลูกผลไม้ผสมผสาน อินทผลัม ลำไย สับปะรด กล้วยน้ำว้า ต้นไม้นานาชนิด จากพื้นดินแห้งแล้งสุดท้ายมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี แถมทำให้พื้นที่เกษตรกรท้ายสวนที่ติดกันมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีด้วย ถ้าของเราไม่แห้ง เขาก็ไม่แห้ง เพราะว่าเขาอยู่ต่ำกว่าเรา นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านได้โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย แค่ขุดให้ลึกกว่าเราหน่อยเดียว น้ำจากเราก็ซึมไปหาเขา บนแปลงของผมก็ทำคลองไส้ไก่ทุกโซน เวลาน้ำฝนตกมาผมไม่อยากให้น้ำฝนวิ่งจากหลังคาบ้านตกไปที่แก้มลิงโดยตรง ก็ใช้วิธีให้น้ำฝนวิ่งตามคลองไส้ไก่ก่อนไปถึงบ่อเก็บน้ำ ถ้าน้ำไม่แรงมากก็จะกระจายไปตามพื้นที่ปลูกต้นไม้ ทำให้ต้นไม้โตไว ดินดีขึ้น จากเดิมปลูกอะไรไม่ได้เลย ปลูกต้นกล้วยป่ายังตาย ตอนนี้เอาอะไรไปลงขึ้นหมด”
อย่างไรก็ตาม แม้คุณวิชัยเจริญจะมีประสบการณ์ด้านการปลูกป่า ทำฝาย แต่ก็ไม่มีองค์ความรู้ด้านเกษตร จึงแสวงหาความรู้ด้วยการสมัครเรียนวิทยาลัยเกษตร จังหวัดเชียงราย จบ ปวส. แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าเป็นหลักสูตรเคมี เลยไปที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีจุดเด่นด้านเกษตรอินทรีย์ ได้เห็นแปลงผักเกษตรอินทรีย์งามมาก จึงถามอาจารย์ได้คำตอบว่าใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรน้ำหมัก 7 ชนิด ของ ดร.พงษ์พันธ์ นันทขว้าง หรืออาจารย์แดง จ.ลำพูน จึงเดินทางไปหาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ได้วิธีทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ หลังจากนั้นเชิญท่านมาสอนสูตรการทำปุ๋ยให้กับชาวบ้านในละแวกสวนเอเดนด้วย
สำหรับเป้าหมายการทำ โคก หนอง นา เชียงราย คุณวิชัยเจริญ กล่าวว่า
“เป้าหมายสูงสุดของผมคือ 1.อยากสานต่องานของพ่อ ให้เกษตรกรเห็นว่าที่พระองค์ท่านสอนคือของจริง 2.เกษตรกรผู้ที่อยากจะพัฒนาตนเอง เปลี่ยนแปลง อยากให้เขาเห็นว่าเกษตรไทยคือครัวของโลก ผมอยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เกษตรกรไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้นน้ำเราผลิตอยู่แล้ว กลางน้ำไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำเรื่องการขนส่งด้วยตัวเอง ปลายน้ำคือผู้บริโภคได้รับของดี และที่สำคัญคืออยากให้พี่น้องเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ ปัญหาของเราทุกวันนี้คือเมื่อผลผลิตออกมาจำนวนมาก เราไม่มีโรงอบ โรงแปรรูป ถ้าทำอย่างนั้นได้เราสามารถช่วยเกษตรกรได้มาก ทุกวันนี้พอผลผลิตออกมาขายไม่หมดก็เสียหาย เพราะเราไม่มีห้องเย็นเก็บผลผลิต สุดท้ายถึงราคาถูกก็ต้องขาย ถ้ามีห้องเย็นก็เก็บไว้รอขายตอนราคาดีได้ นำไปแปรูปเป็นของอบแห้ง ถนอมอาหารเพิ่มมูลค่า นี่คือหัวใจสำคัญที่ผมพยายามผลักดัน ถ้าเรามีกำลัง หรือมีหน่วยงานไหนสนับสนุนเราได้ จะช่วยเกษตรกรได้มาก ผมยินดีอุทิศพื้นที่ของผมให้เลย 1 ไร่ 2 ไร่ ผมให้ได้ ทำเป็นโรงงานเล็กๆใช้พื้นที่สัก 1-2 งานก็พอ ส่วนไหนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อพี่น้องเกษตรกร สังคมนี้เราต้องช่วยกัน จะพึ่งพาแต่หน่วยงานองค์กรต่างๆก็อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เราต้องช่วยกัน เราเองก็เป็นกลุ่มจิตอาสาเล็กๆที่อยากจะทำเพื่อสังคมและส่วนรวม อยากทดแทนบุญคุณของแผ่นดิน ไม่แสวงหาผลประโยชน์ เห็นประโยชน์คนอื่นเป็นที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง”
คุณวิชัยเจริญปิดท้ายด้วยการกล่าวถึงคติประจำใจคือ ททท (ทำทันที)
“ถ้าเราคิดมากเกินไป วางแผนมากเกินไป สุดท้ายแล้วก็ไม่เกิด เราต้องลงมือทำทันทีและต้องมีองค์ความรู้ด้วย ค่อยๆทำไปตามขั้นตอน โดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”