เวลา 14.30 น. วันจันทร์ที่ 9 ส.ค. 64 นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ ว่าด้วยการให้บริการเคลื่อนย้าย-ส่งต่อ ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และกลุ่มเปราะบาง ที่ต้องการเดินทางกลับภูมิลำเนาในภาคเหนือตอนบน ระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กับชมรมกู้ชีพ กู้ภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติ โดยมีนายประเสริฐ เจี๊ยะเหลิม รองประธานชมรมกู้ชีพ กู้ภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติ เป็นตัวแทนหน่วยกู้ภัยร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมธรรมรับอรุณ อบจ.เชียงราย
โดยการลงนามร่วมมือกันครั้งนี้ เป็นร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขเกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย-ส่งต่อ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และกลุ่มเปราะบางทางการแพทย์ การป้องกันโรค เพื่อการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID – 19 ) ให้มีความปลอดภัย และนำส่งต่อโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอย ตามโครงการเจียงฮายปิ๊กบ้าน
นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เผยว่า ทาง อบต.เชียงราย ได้ร่วมสนับสนุนในโครงการฮับคนเจียงฮายปิ๊กบ้าน โดยจัดรถบัสปรับอากาศ ขนาด 36 ที่นั่ง มีห้องน้ำในตัว เพื่อไปรับตัวผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาคือ มีผู้ป่วยบางส่วนที่ไม่ได้รักษาตัวที่ รพ.สนามบุษราคัม แต่มีความประสงค์จะกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิด และประสานขอกลับมาตามกระบวนการของโครงการฮับคนเจียงฮายปิ๊กบ้าน แต่ผู้ติดเชื้อบางส่วนไม่สามารถเดินทางมายัง รพ.สนามบุษราคัม ซึ่งเป็นจุดจอดรถบัสรับผู้ป่วยกลับบ้านได้ เหตุเพราะไม่มีรถรับส่ง เรียกแท็กซี่ก็ไม่มีใครรับ เป็นเหตุให้บางคนมาจุดจอดรถบัสไม่ทันเวลา และพลาดโอกาสในการกลับมารักษาตัวที่บ้านอย่างน่าเสียดาย
ตนจึงนำปัญหาดังกล่าวมาคิดทบทวนและปรึกษาทีมงาน จนกระทั่งได้ปรึกษากับทางหน่วยกู้ภัยที่มีเครือข่ายทีมงานประจำอยู่ในพื้นที่ กทม. ซึ่งทางทีมกู้ชีพกู้ภัยก็ได้เล็งถึงปัญหาดังกล่าว และยินดีให้ความร่วมมือกับทาง อบจ.เชียงราย ในการนำรถไปรับตัวผู้ป่วยจากบ้านพักที่ กทม.และในพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ มาขึ้นรถบัสของ อบจ. เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และบริการคนป่วยที่ไม่มีรถยนต์คนส่วนตัว แต่อยากกลับบ้านเกิดมารักษาตัว
“ทาง อบจ.เชียงราย จะบริการรับผู้ป่วยโควิดกลับบ้านไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรับไม่ได้ ล่าสุดได้ออกบริการมาถึงเที่ยวที่ 11 แล้ว รวมผู้ป่วยที่กลับมารักษาตามโครงการนี้กว่า 200 คน โดยรถบัส 36 ที่นั่งที่ไปรับผู้ป่วยจะมีห้องน้ำในตัว ไม่แวะจอดที่ใด ยกเว้นจุดตรวจเพื่อดูอาการ แต่ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้น จึงจำเป็นต้องชะลอการรับตัวผู้ป่วยกลับบ้านไปอีกสักระยะ เพื่อรอความพร้อมของสถานที่รองรับผู้ป่วยที่ปลายทางก่อน หากสถานที่พร้อมก็จะเร่งดำเนินการไปรับตัวผู้ป่วยในรอบถัดไปในทันที” นางอทิตาธร กล่าว