“ถ้ำหลวง” จ.เชียงราย มีชื่อเสียงไปทั้งโลก จากปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่า การพัฒนาโครงสร้างการท่องเที่ยว และพื้นที่ อบต.โป่งงาม พื้นที่ขยายของเมือง และการลงทุน ทำให้การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้น่าจับตาที่จะเข้ามาบริหาร
นายเกียรติยศ เลิศณวรรธ์ ปลัด อบต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ศักยภาพของ อบต.โป่งผา ที่จะพัฒนามีหลายๆ ด้าน ผู้บริหารและสมาชิกสภาที่จะเข้ามาบริหารที่จะต้องคิดและวางแผนโดยเฉพาะศักยภาพการท่องเที่ยว
“ถ้ำหลวง” กับแผนจัดการท่องเที่ยว
อบต.โป่งผา เป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติ (เตรียมการ) ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และเหตุการณ์ 13 หมูป่า ทำให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศและนานาชาติแผนพัฒนาถ้ำหลวงของ อบต.โป่งผา มีมหาวิทยาลัยพะเยา ดำเนินการวางแผนที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ของขุนน้ำนางนอน-ถ้ำหลวง และพื้นที่โดยรอบ ดอยผาหมี ดอยผาฮี้ และดอยตุง
งบประมาณที่ได้รับมาจากแผนการท่องเที่ยว ปี 2565 ได้งบประมาณพัฒนาหนองน้ำพุ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโยธาธิการและผังเมืองเชียงราย งบประมาณ 180 ล้านบาท ที่จะทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศูนย์แสดง, ศิลปวัฒนธรรม, ลานจอดรถ, ศูนย์สุขภาพ วัตถุประสงค์หลักในแผนจะทำให้หนองน้ำพุ เป็นที่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเป็นจุดพักคอย เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ อ.แม่สาย ปัจจุบันงบประมาณถูกจัดสรรเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี
เตรียมรับ นทท.จากภาพยนตร์ และสารคดี ฉายทั่วโลก
ในปี 2564 มีกองถ่ายภาพยนตร์ และสารคดี ชื่อดังระดับโลก มาถ่ายทำ 3 กองถ่ายใช้งบประมาณหลายร้อยล้าน มีการเปิดกล้องแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้ขั้นยังอยู่ระหว่างการตัดต่อ เท่าที่ได้รับข้อมูลมาในช่วงกลางปี 2565 สารคดี 13 หมูป่า จะเข้าฉายพร้อมกับจะมีภาพของถ้ำหลวง และเหตุการณ์ 13 หมูป่าประชาสัมพันธ์ทั่วโลก
ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มทุนท้องถิ่น และระดับประเทศจะมาลงทุนระหว่างหนองน้ำพุกับอุทยานฯถ้ำหลวง งบลงทุนจำนวนหลายร้อยล้าน ซึ่งจะมาเชื่อมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว
อบต.โป่งผา พื้นที่ขยายการเติบโตของเมืองแม่สาย
ส่วนการขยายของเมือง อบต.โป่งผา ถือเป็นภูมิศาสตร์ รองรับเขตที่อยู่อาศัย เพราะปัจจุบันเขตเมืองแม่สาย ที่ติดกับเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา บริเวณพื้นที่เมืองแม่สาย-เวียงพานคำ ปัจุบันเป็นเขตที่อยู่อาศัยมีประชากรและสิ่งปลูกสร้างขยายเต็มพื้นที่แล้ว
ทำให้ ต.โป่งผา เป็นพื้นที่รองรับที่อยู่อาศัยของแรงงานอพยพ และกลุ่มนักธุรกิจที่จะมาลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ทำให้จำนวนประชากรในเขต อบต.โป่งผา เพิ่มขึ้นในทะเบียนราษฎร์ ปีละประมาณ 2,000 คน
ยังไม่รวมประชากรแฝง เช่น แรงงานที่มาอาศัยในพื้นที่ นับว่ามีอัตราเพิ่มประชากรในอัตราที่สูงมาก ทำให้เกิดปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่ อบต.ต้องรับผิดชอบ จะต้องมีการวางแผนที่ดี เช่น ถนน, ไฟฟ้า, น้ำประปา และระบบสาธารณสุข
และการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค ก็ต้องสอดคล้องกับแผนท่องเที่ยวด้วย ในส่วนของการเพิ่มประชากรในอนาคตจะยังเพิ่มมากกว่านี้ คณะผู้บริหารที่จะเข้ามาต้องมีแผนที่ดีที่รองรับปัญหา และแก้ไขปัญหา
อบต.โป่งผา มีข้อดีของงบประมาณ ที่ค่อนข้างมีพอสมควรการแก้ปัญหา ทั้งเงินอุดหนุนและรายได้ แต่ละปีกว่า 90 ล้านบาท และอนาคต การก่อสร้างศูนย์บริการท่องเที่ยวแล้วเสร็จบริเวณหนองน้ำพุ จะต้องโอนให้กับท้องถิ่นดูและการบริหารจัดการรถ นักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชน และท้องถิ่น
สำหรับ อบต.โป่งผา นับตั้งแต่ปี 2558 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถูกสั่งปลด โดยหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 สั่งนายก และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 17 คน ทำให้ว่างเว้นนายก อบต.กว่า 6 ปี
ปัจจุบัน อบต.โป่งผาแบ่งการปกครองเป็น 12 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 19,112 คน สำหรับการเลือกตั้งนายก อบต.ครั้งนี้มีผู้สมัครนายก อบต.จำนวน 2 คน ต่างฝ่ายต่างชูนโยบายหลักพัฒนาการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยงกับถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน