เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เครือข่ายงดเหล้า-สสส. ผลักดันแนวคิดไอซ์แลนด์โมเดล ตั้งกลุ่มเยาวชน YSDN ออกแบบส่งมอบคูปองสร้างสรรค์ตามความสนใจของเด็กในพื้นที่อำเภอ หวังเกิดเป็นกิจกรรมต้นแบบแก้ปัญหาเหล้า-บุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ในกลุ่มเยาวชนมุ่งเป้าลดนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ระดับอำเภอ
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการพัฒนาต้นแบบอำเภอป้องกันนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ครบวงจร เพื่อพัฒนาโมเดลการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงในเยาวชนอย่างเป็นระบบ ภายใต้การตั้งคณะทำงานอาสาสมัครเยาวชน Y-SDN (Young Stop drink Network) หวังสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืนในพื้นที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)กล่าวว่า จากบทเรียนการแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงของเด็กเยาวชนประเทศไอซ์แลนด์ ใช้เวลากว่า 20 ปี สามารถลดความเสี่ยงของเด็กเยาวชนได้อย่างเป็นระบบ เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีมาทดแทน (ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.bbc.com/thai/international-42065324) ซึ่งเครือข่ายฯ ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวคิด “ขนมปัง 5 ชั้น” อันดับแรกเป็นการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ด้านพฤติกรรม สภาพแวดล้อม ทัศนคติและความสนใจ โดยเน้นกลุ่มเยาวชนอายุ 12-15 ปี จากนั้นจะนำมาประมวลผลสถานการณปัญหา ที่สำคัญคือการรับรู้ความต้องการทำกิจกรรม ซึ่งจะนำมาออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องความต้องการ และจะพัฒนาเป็นข้อเสนอ “คูปองกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน” เพื่อครอบคลุมให้กับเยาวชนอย่างทั่วถึง อันดับต่อมาการประสานเชื่อมกับเครือข่ายผู้ใหญ่ที่หนุนเสริมและเข้าใจเด็กเยาวชนซึ่งเมื่อผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงเด็กจะเปลี่ยน “ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” และการเปิดพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ กับ เด็กเยาวชนใน บ้าน วัด โรงเรียน ให้เกิดความเข้าใจระหว่างวัย นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกัน และอันดับสุดท้ายที่ถือว่าสำคัญมากคือผลักดันให้มีนโยบายอำเภอ และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ค่านิยมในสังคม เช่น การทำให้เป็นไปตามกฎหมาย งานประเพณีปลอดเหล้า การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา การรณรงค์ครอบครัวมีสุข “ไม่ชวนเด็กดื่ม..ไม่ดื่มให้เด็กเห็น” เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะนำมาประยุกต์ใช้ในโครงการดังกล่าว
นางสาววีรญา ร้องคำ อาสาสมัคร YSDN อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เห็นปัญหานักดื่มในพื้นที่มาตลอด จึงสนใจอยากอาสามาเป็นส่วนหนึ่งช่วยหนุนเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จากการดำเนินงานช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา คิดว่าบ้านเรามีต้นทุนเชิงพื้นที่ที่ดี มีชุมชนเข้มแข็ง มีกลุ่มเยาวชนที่หลากหลาย ซึ่งความต้องการของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เราออกแบบร่วมกันคือ การเต้น cover dance เป็นอันดับ 1 การทำสื่อออนไลน์ เป็นอันดับ 2 การวิ่งมินิมาราธอน เป็นอันดับ 3 ซึ่งเกิดสถานะการ์ณโควิดเราจึงทำได้แค่จัดอบรมพัฒนาทักษะของการทำสื่อ ที่สำคัญคือน้องๆ บอกว่าต้องการมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กีฬา ดนตรี งานบุญประเพณี และอยากให้มีเครือข่ายผู้ใหญ่สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่มเด็กและเยาวชนมากกว่านี้
จากการเก็บแบบสอบถามของเครือข่าย YSDN เกี่ยวกับเรื่องทัศนคติที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอออล์ในเยาวชนอำเภอแม่จัน (11 ตำบล) อายุตั้งแต่ 12-18 ปี จำนวน 862 คน พบว่า เยาวชนเคยดื่มแอลกออล์ ร้อยละ 54 ดื่มแบบขาดสติ ร้อยละ 16 นอจากนี้ยังพบว่า เยาวชนมีการเริ่มดื่มตั้งแต่อายุเฉลี่ย 10 -15 ปี โดยส่วนใหญ่จะดื่มในโอกาส งานวันเกิด, งานในชุมชน, งานคอนเสิร์ตและอกหัก เป็นลำดับ
นายฤทธิรงค์ หน่อแหวน ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการดื่มสุราของจังหวัดเชียงราย ปี 2564 ร้อยละ 41.1 ซึ่งมีสถิติสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ สำหรับการขับเคลื่อนงานได้เล็งเห็นว่า เยาวชนจังหวัดเชียงรายมีการดื่มสุราเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์หลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบผู้ปกครอง เรื่องสภาพสังคม อีกทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีที่เปลี่ยนไป ทางประชาคมจังหวัดเชียงรายจึงได้มีแนวทางการทำงานโดยร่วมกับเยาวชน YSDN จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการขับเคลื่อนงานใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่จัน อำเภอเวียงชัย และอำเภอพาน ทั้งนี้กระบวนการขับเคลื่อนงานจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดแนวทางการปฏิบัติเชิงนโยบาย ซึ่งเยาวชนเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่ขายบุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็ก เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เรามองถึงกลไกที่เชื่อมร้อยในระดับพื้นที่อำเภอ การแก้ไขปัญหาการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านกลไกของ พชอ. เพื่อไปหนุนเสริมนโยบายระดับอำเภอ ช่วยให้เยาวชน YSDN ขับเคลื่อนงานร่วมกับ คณะกรรมการ พชอ. ระดับพื้นที่ได้ ซึ่งประชาคมจังหวัดจะเป็นพี่เลี้ยงคอยหนุนเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนงานได้ ตามแนวทาง ขนมปัง 5 ชั้น ไม่ว่าการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ การประสานเชื่มเครือข่ายเยาวชนต่างๆในพื้นที่อำเภอและจังหวัด เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกัน การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีเพื่อเป็นแรงสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลและเป็นที่ปรึกษา
นอกจากมีการป้องกันเยาวชนหน้าใหม่แล้ว ในอำเภอแม่จัน ยังมีโครงการลดนักดื่ม นักสูบหน้าเก่า เช่น โครงการลดละเลิกเหล้าบุหรี่เข้าพรรษา การจัดตั้งชมรมคนหัวใจเพชรชวนคนเลิกอบายมุข โดยมีตำบลศรีค้ำ เป็นพื้นที่ต้นแบบลดละเลิกอบายมุขแล้วได้อะไร? รวมถึงร้านค้าที่ขายเหล้าบุหรี่ต้องทำตามกฎหมาย ขายตามเวลา ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20ปี เรียกว่า เป็นร้านค้าคุณธรรมอีกด้วย โดยมีสาธารณสุขอำเภอแม่จัน และนายอำเภอแม่จัน ได้ให้การสนับสนุนบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอแม่จัน
นายธีระ กล่าวต่อว่า โครงการนี้ เพิ่งเริ่มต้นมีการวางแผนดำเนินงานไว้ 10 ปี จึงจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งต้นน้ำ คือเด็กเยาวชน กลางน้ำ คือ การปรับสภาพแวดล้อม และปลายน้ำ คือการลดละเลิกหน้าเก่า หากดำเนินการครบวงจรดังกล่าวเชื่อว่า ปัญหาของเด็กเยาวชน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพจะลดลงอย่างแน่นอน โดยนอกจากอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แล้ว ยังมีอีก 11 อำเภอที่ร่วมโครงการ ได้แก่ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงใหม่ ,อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ,อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ,อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก, อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น, อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำพู ,อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์} อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ , อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ, อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับกิจกรรมของพื้นที่เชียงรายนับว่าเป็นต้นแบบ และคาดหวังให้เกิดในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะคูปองกิจกรรมสร้างสรรค์แบบไอซ์แลนด์ ซึ่งได้มีการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานขับเคลื่อน และร่วมผลักดันกลไก สู่ระดับจังหวัดและระดับชาติต่อไป