เส้นทางทางหลวงสาย 1020 หรือ เส้นทางเชียงราย- เชียงของ ในหมู่บ้านศรีดอนชัย ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 8.9 กิโลเมตร โดยจากอำเภอเชียงของ มุ่งสู่อำเภอเทิง ผ่านโซนโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านลานทุ่งนากว้าง จากนั้นจะเข้าหมู่บ้านศรีดอนชัย ผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีดอนชัยแล้วให้เตรียมชะลอรถ จุดหมาย “พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” อยู่ติดกับสถานพยาบาล ทางด้านซ้ายมือเรานี้
ลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ไทจากสิบสองพันนามาสู่ศรีดอนชัย
ลาย ศิลปะการทอเส้นฝ้ายเป็นลวดลายบนผืนผ้าอันวิจิตร
คำ มีคุณค่าประดุจดังทองคำอันควรรักษาสืบไป
ก้าวผ่านปะตูเข้าสู่ พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์ของ นายสุริยา วงค์ชัย ที่เกิดจากความรักในเสน่ห์ผืนผ้าลวดลาย เก็บสะสม รวบรวม จัดสร้างพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมา เพื่อเก็บรักษาผ้าทอไทลื้อ ไว้สืบทอดให้เป็นมรดกของลูกหลานสืบไป
บ้านเรือนไม้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทลื้อ ร่มรื่นด้วยไม้น้อยใหญ่ เฮือนไม้ 2 หลัง หลังแรกเป็นตัวพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อ ประวัติผ้าทอ และวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวไทลื้อ และ เรือนหลังที่ 2 เป็นเหมือนเรือนรับรองที่จัดจำหน่ายผ้าทอไทลื้อ ส่วนด้านล่างเป็นโฮมสเตย์ ซึ่งบรรยากาศดีมาก
“เฮือนหลังแรก” พิพิธภัณฑ์ มีคุณแม่ของคุณสุริยา เป็นไกด์พาชมเล่าว่า เสื้อ และซิ่นบางผืนที่พิพิธภัณฑ์เก่าและมีอายุมาก บางผืนเก่าแก่กว่า 50 ปี ก็มี ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามให้ดำรงอยู่สู่รุ่นลูกหลานเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดง 2 ภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ บอกเล่าประวัติความเป็นมาของชาวไทลื้อแต่ในอดีตสืบจนไทลื้อในปัจจุบันที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือของไทย รวมถึงในไทลื้อศรีดอนชัยด้วย
“เฮือนหลังที่สอง” เฮือนรับรองแขกผู้มาเยือน และโฮมสเตย์ งานหัตถศิลป์ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อคือ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า “ลายเกาะ” ก้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ลายน้ำไหล” มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน
“มรดกการทอผ้าส่งเสริมรักษาและอนุรักษ์สืบทอดผ้าทอไทลื้อ ให้ได้ชมในความงดงามของผ้าทอมือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นคุณค่าของแผ่นดิน”