วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 10.30 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางไปร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองและขับเคลื่อนการปฏิบัติงานตามนโยบาย ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องชัยพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
โดยการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากส่วนราชการต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน เพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนโครงการหลวง โดยขณะนี้การสร้างถนนซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ได้รับความร่วมมือจากกรมทางหลวงชนบท เร่งดำเนินการใน 8 พื้นที่ที่มีปัญหาต่อการคมนาคมและขนส่ง ในเขตอำเภอพร้าว อำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ,อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย,อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 140 กิโลเมตร มีความก้าวหน้าร้อยละ 45.51
จากรูปแบบความสำเร็จในการพัฒนาทางเลือกพืชทดแทนฝิ่นในพื้นที่ที่มูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปให้การช่วยเหลือตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รอยัลโปรเจคโมเดลนี้จึงได้ถูกนำไปเป็นแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่ปัญหาอื่น ๆ ในประเทศไทยและต่างประเทศ และจากพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน และพะเยา สู่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงลำดับที่ 39 ในรัชสมัยปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราโชบายให้มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการพัฒนาอาชีพทางเลือกแก่ราษฎรชาวเขาในพื้นที่ตามแบบรอยัลโปรเจคโมเดล ในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการผลิต ผัก ไม้ผล กาแฟ พืชไร่ ให้แก่เกษตรกร ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 45 ราย ในระยะ 4 เดือน ที่ผ่านมา มีผลผลิตที่จำหน่ายผ่านตราสัญลักษณ์ “โครงการหลวง” กว่า 39,252 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่าแปดแสนบาท ซึ่งสูงกว่าการปลูกข้าวโพด อาชีพดั้งเดิมของราษฎรในพื้นที่
อีกทั้งยังใช้พื้นที่น้อย เนื่องจากเป็นระบบปลูกในโรงเรือนที่กันโรค แมลง และสภาวะอากาศอีกด้วย ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอส่งเสริมพืชทดแทนฝิ่น ได้แก่ เบบี้ฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง ผักกาดขาวปลี เสาวรส สตรอว์เบอร์รี เคพกูสเบอร์รี กาแฟ และพืชไร่ ได้แก่ คีนัว จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ เหลืองปางดะ วาวี และภูฏาน รวมทั้งทดสอบแปลงปลูกพันธุ์พืชในระบบพืชหลังนา จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ถั่วขาว และถั่วเหลืองผิวดำ และยังมีการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน การสำรวจพื้นที่เพื่อทำแปลงทดสอบสาธิต เมื่อเกษตรกรเห็นตัวอย่างจึงทำตาม ขณะนี้มีจำนวนเกษตรกร 10 ราย ที่ปลูกพืชในโมเดลการปลูกพืชต้นแบบบนพื้นที่สูง
โดยการแบ่งพื้นที่ตามระดับความสูง มากกว่า 900 เมตร จำนวน 5 แปลง และต่ำกว่า 900 เมตร จำนวน 5 แปลง ทำการทดสอบวิธีการปลูกพืชสร้างรายได้ในระบบวนเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดผลดีทั้งการอนุรักษ์ป่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด โดยมีพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงอย่างรวดเร็วในระยะ 3 ปีที่มูลนิธิโครงการหลวงเข้าไปดำเนินการ ขณะนี้มีจำนวนพื้นที่ปลูกฝิ่นไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และยังมีการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้เสพ ผู้ติดยา ที่เข้ารับการบำบัดร่วมกับโรงพยาบาลแม่ระมาด พร้อมมุ่งดำเนินการส่งเสริมเยาวชนในการเป็นผู้นำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืนต่อไป
ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรีได้ประชุมติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง และเดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงเพื่อตรวจรับงาน โดยขณะนี้ผลการดำเนินการแล้วเสร็จร้อยละ 83.65 รวมทั้งได้ตรวจรับงานก่อสร้างอาคาร DATA CENTER ที่แล้วเสร็จร้อยละ 92.50 โดย สำนักงาน กสทช. ในการเป็นศูนย์ควบคุมระบบการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศของกลุ่มอาคารในศูนย์วิจัยฯ เชื่อมต่อกับพื้นที่ดำเนินการอื่นของมูลนิธิโครงการหลวงใน 6 จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งนี้มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 เพื่อเป็นศูนย์การวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ เพื่อเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างกว้างขวางต่อไป