ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยได้รับแจ้งจากนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปซักถามข้อมูลเขาถึงในโรงเรียน อ้างว่ามีรายชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ที่จะมาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ
ที่มาภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่าได้รับแจ้งจาก “ยิ่ง” (นามสมมติ) อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปซักถามข้อมูลเขาถึงในโรงเรียน อ้างว่ามีรายชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” ที่จะมาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อยิ่งไม่ยอมให้ความร่วมมือบอกข้อมูลเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในการสอบถามข้อมูล ทางตำรวจระบุ “ไม่ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่เลย”
เหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 18 ก.พ. 2564 ยิ่งได้รับแจ้งจากทางบ้านของเขาว่าได้มีตำรวจโทรศัพท์ติดต่อไปยังญาติคนหนึ่ง เพื่อสอบถามว่าบ้านของ “น้องยิ่ง” อยู่ที่ใด ก่อนที่จะได้มีตำรวจเดินทางไปที่บ้านของเขา แต่เนื่องจากไม่พบใครที่บ้าน
จนกระทั่งเวลาประมาณ 9.30 น. ทางตำรวจจึงได้เดินทางมาพบยิ่งถึงที่โรงเรียน โดยมีคุณครูมาแจ้งกับเขาว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาหายิ่งในห้องกิจการนักเรียน ให้เขาเดินทางไปพบกับตำรวจ เมื่อยิ่งระบุว่าจะให้เพื่อนเดินทางไปพบด้วย คุณครูระบุว่าไม่ได้ ให้เพื่อนกลับไปเข้าเรียนตามปกติ ยิ่งจึงได้เดินทางไปพบตำรวจเพียงคนเดียว
เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบที่เดินทางมาพบกับยิ่ง ระบุว่าได้เดินทางมาจากสถานีตำรวจภูธรบุญเรือง โดยใช้รถยนต์กะบะของสภ.บุญเรืองเข้ามาจอดไว้ภายในโรงเรียน จากนั้นทางตำรวจได้แสดงภาพถ่ายรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง” ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ. 2564 ที่มีรายชื่อประชาชนในจังหวัดเชียงรายราว 40 คน พร้อมระบุข้อมูลเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ และยานพาหนะที่ใช้ โดยมีชื่อยิ่งอยู่ภายในนั้นด้วยให้เขาดู
ตำรวจระบุว่าได้รับคำสั่งให้มาถ่ายรูปรถที่ยิ่งใช้งาน, ภาพถ่ายตัวยิ่งเอง และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อนำส่งรายงาน “นาย” เมื่อยิ่งสอบถามว่าทำไมต้องให้ข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่สามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่แล้ว ตำรวจจึงได้บอกว่าถ้าเขาไม่ให้ข้อมูล ตำรวจก็จะรายงานไปที่สถานีตำรวจว่ายิ่งไม่ให้ข้อมูล ก่อนที่ตำรวจคนดังกล่าวได้โทรศัพท์ไปสอบถามผู้กอง ว่าน้องยิ่งไม่ให้ความร่วมมือจะให้ทำอย่างไร จากนั้นตำรวจจึงให้ยิ่งพูดคุยกับผู้กองที่ระบุว่าชื่อ “ผู้กองก้อง สุริยา”
ทางผู้กองสอบถามว่าน้องยิ่ง เรียนอยู่ม.5 ใช่หรือไม่ ก่อนอธิบายว่าช่วงนี้มีคำสั่งให้ติดตามดูความเคลื่อนไหวเฉยๆ เพราะว่าน้องยิ่งได้เคยไปร่วมชุมนุมที่อำเภอเชียงของ แต่ยิ่งระบุว่าตนเคยไปร่วมการชุมนุมเพียงที่สวนตุงและโคมในอำเภอเมืองเชียงรายเท่านั้น ทางผู้กองจึงระบุว่านั่นแหละ ไม่มีอะไร ขอให้เฝ้าระวังเฉยๆ ช่วงนี้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลัวว่าจะมีการเข้าไปชุมนุมในกรงุเทพฯ ยิ่งจึงได้ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปที่ไหนในช่วงนี้ โดยช่วง 18-20 ก.พ. มีนัดทำกิจกรรมอาสากับเพื่อนแถวบ้าน ผู้กองจึงได้ระบุว่าวันที่มีการทำกิจกรรม จะมีการส่งสายตรวจเข้าไปดูกิจกรรมด้วย ก่อนวางสายไป
หลังวางสายจากผู้กอง เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบที่เดินทางมาพบยิ่ง ได้ถ่ายรูปเขาเอาไว้ ระบุว่าเพื่อส่งรายงานให้ “นาย” ก่อนที่จะขอเบอร์โทรศัพท์ โดยยิ่งได้โทรไปแจ้งกับผู้กอง “ก้อง สุริยา” อีกครั้ง ว่าหากมีความต้องการติดต่อเขา ให้โทรหาเขาได้โดยตรงก่อนจะวางสาย
นอกจากนี้ตำรวจคนที่มาพบยิ่งได้ระบุอีกว่า “ยิ่งไม่ให้ความร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่เลยนะ” และระหว่างการพูดคุย ทางตำรวจระบุว่าการติดตามที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงรายสั่งการลงมาให้ดำเนินการติดตาม ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางกลับไป
เหตุการณ์ติดตามถึงที่บ้านและตามพบตัวถึงโรงเรียนที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความวิตกกังวลให้กับครอบครัวของ “ยิ่ง” อย่างมาก แม้เขาจะยืนยันกับครอบครัวว่าไม่ได้ทำอะไรเลย เพียงแต่เคยไปร่วมการชุมนุมในเมืองเชียงรายที่เคยมีกลุ่มนักเรียนและประชาชนจัดขึ้นเท่านั้น
“ยิ่ง” เปิดเผยความรู้สึกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานได้ชัดเจนที่สุดว่าประเทศไทย กำลังถูกรัฐนำพาไปสู่ความล้าหลัง การข่มขู่คุกคามเยาวชนที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกถึงในโรงเรียน เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจน เจ้าหน้าที่พยายามใช้เครื่องมือทุกอย่างในการที่จะหยุดยั้งความกล้าคิดกล้าแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้เกิดคำถามว่าการทำแบบนี้ ประเทศจะก้าวสู่สังคมโลกได้อย่างไร