วันที่ 5 มี.ค. 64 สมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย จัดพิธีบำเพ็ญบุญกุศลทางพุทธศาสนาด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่นักข่าวผู้วายชนม์ เนื่องในวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ หรือวันนักข่าวแห่งชาติ วันที่ 5 มีนาคม ประจำปี 2564 ที่มีผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนจากทุกแขนงร่วมพิธีคับคั่ง
โดยมีนายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่นักข่าวผู้วายชนม์ ณ วิหารวัดศรีเกิด เลขที่ 109 ม.3 ต.เวียง ถ.บรรพปราการ ชุมชนศรีเกิด อ.เมือง จ.เชียงราย พร้อมร่วมกับสื่อมวลชนอาวุโสและผู้มีเกียรติร่วมถวายจตุปัจจัยแด่พระสงฆ์ จำนวน 5 รูป เนื่องในวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ หรือ “วันนักข่าว” ซึ่งจัดโดยสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย นำโดยนายโชติศิริ ดารายน นายกสมาคมสื่อมวลชนและนักประชาสัมพันธ์เชียงราย เพื่ออุทิศส่วนบุญและส่วนกุศลให้กับสื่อมวลชนผู้ล่วงลับไปแล้ว จำนวน 55 ราย โดยได้รับเกียรติจาก นายอำนาจ เพียรไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย พันเอก สมเจตตะณ์ ภักดีบรรณดิษฐ์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 นายธวัช เรนเรือง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย นายบุญจวน พานิช ผู้พิพากษาศาลแขวงเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า คหบดี บุคคลในวงการสื้อสารมวลชน และสื่อมวลชนทุกแขนงร่วมพิธีอย่างคับคั่ง
เนื่องจากในวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปีสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยได้ร่วมกันตกลงใตกำหนดให้เป็นวันนักข่าว ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2498 โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ต่อมาสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบันถือเป็นงานสำคัญที่สื่อมวลชนทั้งประเทศและสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงรายทุกสังกัด ตลอดจนส่วนราชการจะได้ร่วมพิธีทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับสื่อมวลชนผู้ล่วงลับ และเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะของสื่อมวลชนทุกแขนงในจังหวัดเชียงราย โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ ผู้บริหารองค์การภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงรายมาอย่างต่อเนื่อง
ประวัติและความสำคัญของ “วันนักข่าว 5 มีนาคม” “วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ตรงกับวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี ก่อตั้งโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2498 และนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย สมัยนั้นคือ นายโชติ มณีน้อย เป็นนักข่าวรุ่นบุกเบิก ก่อตั้งลงนามร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รวม 16 ฉบับ
ความสำคัญของ “วันนักข่าว” นับแต่อดีต
“วันนักข่าว” ทำให้สมาชิก และผู้ที่อยู่ในวงการแวดวงข่าวสาร หนังสือพิมพ์ และสื่อทุกช่องทาง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข่าวสาร มีการมอบรางวัลนักข่าวดีเด่น ภาพข่าวดีเด่น และข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ที่จุดประกายต่อยอดเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ได้ถือเอาวันที่ 5 มีนาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 เป็นวันหยุดงานประจำปี โดยวันที่ 4 มีนาคมจะเป็นวันนัดร่วมประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดนัดเฉลิมฉลองสังสรรค์ จัดที่ ณ ที่ทำการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน
รายชื่อ 16 หนังสือพิมพ์ที่ร่วมลงนามก่อตั้งวันนักข่าว
1. หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์
2. หนังสือพิมพ์ข่าวพาณิชย์
3. หนังสือพิมพ์ข่าวสยาม
4. หนังสือพิมพ์ซินเสียง
5. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
6. หนังสือพิมพ์ตงฮั้ว
7. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
8. หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย
9. หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
10. หนังสือพิมพ์หลักเมือง
11. หนังสือพิมพ์ศิรินคร
12. หนังสือพิมพ์สยามนิกร
13. หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
14. หนังสือพิมพ์สากล
15. หนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์
16. หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ภายหลังสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวมเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 และยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคมของทุกปี เป็นวันนักข่าว จนถึงปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 67 และจัดประกาศผลรางวัลข่าวดีเด่น แก่นักข่าว, ภาพข่าว ในชื่อรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อเป็นการยกย่องนักข่าว และช่างภาพที่มีผลงานดีเด่นของปี
ที่มา : สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย