เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีเกิดการปราบปรามกลุมผู้ชุมนุมประท้วงในประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดทาง จ.เชียงราย ซึ่งอยู่ติดกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งมีการออกมาชุมนุมประท้วงของชาวเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ได้มีการจัดเตรียมแผนเพื่อรองรับกรณีอาจมีชาวเมียนมาหลบหนีการปราบปรามเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว โดยได้มีการให้หน่วยทหารในพื้นที่คือ ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง ร่วมกับมณพลทหารบกที่ 37 ได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อไว้ใช้รองรับผู้คนหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น โดยได้กำหนดผู้ที่อาจจะหลบหนีเข้ามาเป็น 4 ประเภทคือกลุ่มชาวเมียนมาทั่วไปที่หลบหนีความรุนแรงเข้าสู่ประเทศไทยโดยไม่ใช่บุคคลสำคัญและเมื่อเหตุการณ์สงบแล้วสามารถกลับคืนสู่ประเทศไทยเมียนมาได้
นอกจากนี้ยังคัดแยกผู้ที่อาจจะหลบเข้ามาเป็นประเภทกลุ่มชาวเมียนมาที่เป็นระดับแกนนำหรือผู้ที่ไม่สามารถกลับสู่ประเทศไทยแต่จะขอลี้ภัยไปยังประเทศที่ 3 ซึ่งทางการไทยก็จะจัดสถานที่ให้ตามหลักสิทธิมนุษยชนและติดต่อประเทศปลายทางว่าจะรับตัวไปหรือไม่ รวมทั้งยังมีประเภทชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวเมียนมาก็จะได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถกลับคืนสู่ประเทศตัวเองได้ตามปกติโดยไมได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ และสุดท้ายคือผู้ที่อาจจะเข้ามาในฐานะคนไทยที่เคยอยู่ในประเทศเมียนมาซึ่งก็จะได้รับการช่วยเหลือในฐานะคนไทยตามปกติต่อไป ขณะที่ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่เป็นเขตป่าเขา ลำน้ำสาย-ลำน้ำรวก ทางเจ้าหน้าที่ไทยได้วางกำลังและอุปกรณ์ป้องกันการหลบหนีเข้าเมืองอย่างเข้มงวดต่อเนื่องมามาจากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยคงเหลือเพียงจุดผ่านแดนถาวรตรงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 ที่ใช้เพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้น กระนั้นที่ผ่านมาก็ยังพบความพยายามลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเป็นกลุ่มย่อยตามจุดต่างๆ อยู่เนืองๆ เช่นกัน
สำหรับสถานการณ์ใน จ.ท่าขี้เหล็ก พบว่าชาวเมียนมายังคงพยายามออกมาแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะถูกปราบปรามหนักจนไม่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ๋และเดินเป็นขบวนไปตามถนนในตัวเมืองได้เหมือนเดิม แต่ก็มีการรวมกันเป็นกลุ่มย่อยออกถือป้ายและแสดงออกคัดค้านการปกครองของรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารของกองทัพ ก่อนจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็วเมื่อเจ้าหน้าที่เมียนมาเตรียมจะเข้าไปสลายตัว
แหล่งข่าวชาวเมียนมาในท่าขี้เหล็ก กล่าวว่าอย่างไรก็ตามสถานการณ์เริ่มย่ำแย่ลงเพราะหลังมีการปราบปรามการชุมนุมทางเจ้าหน้าที่ได้บุกเข้ายึดตามโรงพยาบาลที่เคยให้การสนับสนุนผู้ชุมนุมจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข ได้หลบหนีไป ส่วนชาวบ้านก็ถูกตรวจสอบอย่างหนักโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนจะมีตำรวจและทหารนำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านเพื่อค้นหาผู้ออกไปชุมนุม รวมทั้งตรวจหาบุคคลแปลกปลอมที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ทำให้เกิดสภาวะกดดันและตึงเครียดอย่างหนักจนอาจมีบางส่วนที่ทนรับสถานการณ์ไม่ไหว้แล้วหลบหนีเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทยได้เช่นกัน.