19 มี.ค.64-นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันที่ 19 มี.ค. 2564 รฟท.จะเผยแพร่ประกาศและเอกสารรายละเอียดเงื่อนไขการประกวด (TOR) โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้าง 7.29 หมื่นล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ผ่านเว็บไซต์ของ รฟท. หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 5 ครั้งเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่า จะทราบผลผู้ชนะการประกวดราคา และลงนามในสัญญาภายในปี 2564
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว แบ่งงานเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 2.67 หมื่นล้านบาท, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 2.87 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 1.74 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามขณะที่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.54 หมื่นล้านบาทนั้น ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำเอกสาร TOR ก่อนที่จะมีการเผยแพร่ประกาศ และเอกสาร TOR ด้วยวิธีประกวดราคา e-Bidding ผ่านเว็บไซต์ของ รฟท. ต่อไป สำหรับโครงการดังกล่าว แบ่งงานเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. วงเงิน 2.71 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. วงเงิน 2.83 หมื่นล้านบาท
นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า ในการประชุมคณะกรรมหาร (บอร์ด) รฟท. วานนี้ (18 มี.ค. 2564) มีมติเห็นชอบรายชื่อบุคคล จำนวน 8 ราย เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (บริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท.) โดยภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้ รฟท. จะต้องเสนอรายชื่อดังกล่าว ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาคุณสมบัติ และความเหมาะสม จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการจดทะเบียนบริษัทฯ เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ต่อไป ในส่วนกรรมการผู้อำนวยใหญ่ (ซีอีโอ) ของบริษัทฯ นั้น จะดำเนินการสรรหา หลังจากที่มีการจดทะเบียนบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว
สำหรับโครงสร้างบอร์ดของบริษัทฯ นั้น จะมีจำนวน 9 ราย ประกอบด้วย รายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Directer Pool) ที่ขึ้นทะเบียนกับ สคร. จำนวน 3 ราย ซึ่ง 1 ในนั้น จะเว้นว่างไว้ให้ตำแหน่งซีอีโอที่ต้องสรรหาต่อไป นอกจากนี้ มีคณะกรรมการอิสระ จำนวน 3 ราย รวมถึงผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 1 ราย ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม 1 ราย และผู้แทนจาก รฟท. 1 ราย
รายงานข่าวจาก รฟท. ระบุว่า ภายใต้บริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. จะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยอีกประมาณ 3 บริษัท เช่น บริษัทที่ดูแลปัญหาที่ดินบุกรุก, บริษัทดูแลที่ดินที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาได้ เป็นต้น ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะถือหุ้นในบริษัทย่อยไม่ถึง 50% และมีหุ้นส่วน (พาร์ทเนอร์) ถือหุ้นประมาณ 47-48% รวมถึงหุ้นบุริมสิทธิอีกประมาณ 3% ซึ่งจะทำให้บริษัทย่อยดังกล่าว ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้การทำงานเกิดความคล่องตัวมากขึ้น