“ท็อป วราวุธ” แจงผลงานลดฝุ่นได้เกือบร้อยละ 40 จากปีก่อน เผยมาตรการ ‘ชิงเก็บก่อน’ เก็บเศษใบไม้ได้ 2 พันตันช่วยลดไฟป่า ลดจุดความร้อนเพียบ ระบุยังต้องเฝ้าระวังหมอกควันข้ามแดน ด้านศกพ. เผย 6 จังหวัดเผชิญฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในภาพรวมของประเทศว่า หากเทียบจุดความร้อนในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2563 โดยรวมถือว่าจุดความร้อนลดลงไปประมาณร้อยละ 35-40 ซึ่งสาเหตุของเกิดการจุดความร้อนแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ แบบที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้
นายวราวุธ กล่าวว่า อย่างแรกคือ จุดความร้อนที่ควบคุมได้ ซึ่งเกิดจาก เครื่องยนต์ การเผาในพื้นที่การเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐควบคุม เช่น มีการตรวจควันคำรถยนต์ การควบคุมการเผาพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะการเผาอ้อยที่พบว่าลดลงไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ตามนโยบายของของกระทรวงอุตหกรรม ที่กำหนดราคาอ้อยแบบเผากับแบบตัดอ้อยสดในราคาที่แตกต่างกัน โดยให้ราคาแบบอ้อยสดในราคาที่สูงกว่าเพื่อกระตุ้นไม่ให้ชาวไร่เผาอ้อย ลดฝุ่น PM2.5 ในส่วนของไฟป่าเรามีมาตรการชิงเก็บก่อน คือ เก็บเศษใบไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทั้งป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ หรือนอกเขตป่า แล้วนำเศษใบไม้เหล่านี้ไปแปรรูป หรือขายให้เอกชน ซึ่งเหมือนนำใบไม้ไปแปรสภาพเป็นเงินนั่นเอง ทำให้ที่ผ่านมาในพื้นที่ 18 จังหวัด เก็บเศษใบไม้ได้กว่า 2,000 ตัน ถือว่าชิงเก็บก่อนได้จำนวนมาก และลดจุดความร้อนได้จำนวนมากกว่าปีก่อนๆ
นายวราวุธกล่าวอีกว่า ส่วนจุดความร้อนที่เราควบคุมไม่ได้ คือ สภาพอากาศ และจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีมากว่าในไทยกว่าสิบเท่า ทำให้พื้นที่ภาคเหนือของไทย ยังคงพบปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ แต่เรื่องนี้เราไม่มีอำนาจไปสั่งการประเทศเพื่อนบ้านให้หยุดเผาได้ จึงต้องประสานสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านในการลดการเผาในการลดหมอกควันข้ามแดน อย่างไรก็ตามจากการปฏิบัติงานจากทุกภาคส่วนทำให้ในปีนี้เราสามารถลดจุดความร้อนได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และค่าฝุ่นละอองสูงสุดลดลง 10% จากปีที่แล้ว
วันเดียวกัน เวลา 14.00 น. ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในภาพรวม พบปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานใน กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่
ภาคเหนือ ตรวจวัดได้ 27-127 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐาน 3 พื้นที่ ได้แก่ ที่บริเวณ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, รพ.เทพรัตนฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 19-39 มคก./ลบ.ม. ภาคกลางและตะวันตก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 22-48 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออก ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตรวจวัดได้ 12-37 มคก./ลบ.ม. ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 8 – 29 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 35 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 38-87 มคก./ลบ.ม.