เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 มี.ค. 64 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนพื้นที่อำเภอเทิงและข้างเคียง โดยมีว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รอง ผวจ.เชียงราย นายบุญส่ง ตินารี นอภ.เทิง นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ ส.ส.เชียงราย เขต 4 นางอาทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ กำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเทิงและข้างเคียงร่วมต้อนรับและนำเสนอปัญหาความเดือดร้อน ณ หอประชุมเอื้องหลวง โรงเรียนปล้องวิทยาคม ต.เวียง อ.เทิง จ.เชียงราย
นายบุญส่ง ตินารี นอภ.เทิง กล่าวว่า อำเภอเทิง จ.เชียงราย แบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล 156 หมู่บ้าน 12 อปท. มีประชากร 84,785 คน 33,505 ครัวเรือน จากการสำรวจปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการเบื้องต้น พบว่าชาวอำเภอเทิงต้องการแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการพัฒนาแหล่งน้ำเดิม เช่นอ่างเก็บน้ำ หนอง คู คลอง และเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ ขุดสระกักเก็บน้ำ เจาะน้ำบาดาล ปัญหาการตื้นของแม่น้ำอิงที่ไหลผ่าน อ.เทิง ระนะทาง 64 กม. ต้องการงบประมาณเพื่อขุดลอก เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร และอีกปัญหาสำคัญของชาวอำเภอเทิงก็คือ ปัญหาการขอเอกสารสิทธิที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรในรูปแบบโฉนดที่ดิน สปก. คทช. ให้ครบถ้วนและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยหวังว่าการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของ รมช.เกษตรฯในครั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของพ่อแม่พี่น้องชาวอำเภอเทิงและข้างเคียงในอนาคต
ด้าน รมช.เกษตรฯ เผยว่า การลงพื้นที่รับฟังปัญหาครั้งนี้ถือเป็นภารกิจนอกรอบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมาตนได้ไปลงพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย และได้มีชาวบ้านจากอำเภอเทิงหลายตำบลทั้ง ต.ปล้อง ต.หนองแรด และต.หงาว มาขอพบเพื่อนำเสนอปัญหาในพื้นที่ วันนี้ตนจึงตัดสินใจมาลงพื้นที่ที่อำเภอเทิง
“จากการรับฟังปัญหาในหลายๆครั้ง พบว่าปัญหาของชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเอกสารสิทธิ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ ผวจ.เชียงราย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดพิจารณาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อออกเอกสารสิทธิให้กับชาวบ้าน ส่วนปัญหาการจัดการเพื่อเพื่อใช้อุปโภคบริโภค พื้นที่อำเภอเทิงมีแม่น้ำสายหลักคือ “แม่น้ำอิง” ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่หนองเล็งทราย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ตั้งแต่ปี 62-64 ตนได้หางบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาขุดลอกหนองเล็งทราย เพื่อใช้กักเก็บน้ำที่ไหลมาจากบนดอยหลวง และใช้งบประมาณอีกกว่า 750 ล้านบาทในการพัฒนารอบกว๊านพะเยา ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิง ในส่วนของแม่น้ำสาขาอื่นๆ ได้มอบหมายให้ อปท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงไปดูปัญหา หากต้องการงบประมาณหรือความช่วยเหลือด้านไดก็ให้ยื่นโครงการมาที่ตน จะได้พิจารณาช่วยเหลือตามลำดับต่อไป และอีกปัญหาสำคัญก็คือปัญหาปากท้อง ทุกวันนี้อาชีพหลักของชาวบ้านส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพเกษตรกร ทำไร่ ทำนา ซึ่งรายได้ไม่เพียงพอ ตนมีแนวคิดจะส่งเสริมให้ชาวบ้านเปลี่ยนอาชีพและวิถีชีวิต โดยส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งสามารถต่อยอดได้หลากหลาย เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว กระชายดำ ขิง กัญชง และกัญชา ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ ใช้ตลาด อตก. เป็นจุดกระจายสินค้า โดยจะมีการนำร่องที่พื้นที่ จ.ลำปาง เป็นจังหวัดแรก” รมช.เกษตรฯกล่าว
ในช่วงหลังของกิจกรรม ทีมงานของ รมช.เกษตรฯ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนชาวบ้านได้มาพูดนำเสนอปัญหาของพื้นที่ตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร และปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ซึ่ง รมช.เกษตรฯได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้เพื่อพิจารณาช่วยเหลือแก้ไข และได้นัดหมายลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านพื้นที่ อ.พญาเม็งราย และ อ.ดอยหลวง ในวันที่ 9 เม.ย. 64 ที่จะถึงนี้
ช่วงสุดท้ายของกิจกรรม รมช.ได้รับหนังสือเอกสารร้องทุกข์จากชาวบ้าน และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนจะเดินทางไปที่ท่าอากาศยานแห่งชาติแม่ฟ้าหลวงเพื่อบินด่วนไปร่วมประชุมสภาในช่วงบ่าย