จับแรงงานข้ามชาติเกือบครึ่งลอยถูกลอยแพในตึกร้างในเมืองเชียงราย-กำลังลำบากขาดแคลนอาหาร เผยเสียค่าหัวไปแล้ว 20,000-30,000 นักวิชาการเผยเหตุแรงงานพม่าทะลักไทย-แนะรัฐอุดช่องว่างนโยบาย
11 ตุลาคม 2565 – เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เชียงราย ฉก.ม.2 กองกำลังผาเมือง ทหารกอง 3 ศรภ.บก.ทท.หน่วยข่าวกรองทหาร กองกำลังผาเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านดู่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) จ.เชียงราย แรงงางน จ.เชียงราย และสำนักงานจัดหางาน จ.เชียงราย นำกำลังเข้าไปตรวจสอบอาคารร้างแห่งหนึ่งไม่มีเลขที่ ในหมู่บ้านป่ารวก หมู่ 10 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย หลังจากสืบทราบว่ามี ชาวเมียนมาจำนวนมาก ซุกซ่อนอยู่
จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณด้านล่างของอาคารที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จมีแรงงานข้ามชาติต่างสัญชาติเมียนมาจำนวน 49 คน เป็นชายจำนวน 36 คน และหญิงจำนวน 13 คน โดยทั้งหมดให้การว่ากำลังรอไปทำงานเพราะมีนายจ้างพาไปพักอยู่บริเวณดังกล่าวเพื่อรอทำเอกสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่พบ นายจ้างและคนนำพา
ทั้งนี้จากการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดไม่พบว่าได้จดทะเบียนในระบบ Name List ของกรมการจัดหางาน เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งเทศบาล ต.นางแล ไปทำการตรวจร่างกายพบมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาด้วยจำนวน 8 คน จึงแยกตัวออกไปทำการรักษา และนำตัวได้ดำเนินคดีกับคนทั้งหมดต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จ.เชียงราย และ สภ.บ้านดู่ ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่ยังไม่ดำเนินคดีในข้อหาเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเนื่องจากทั้งหมดยังไม่ได้ทำงานและไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน โดยได้นำตัวไปฝากขังที่ไว้ที่ ร้อย.อส.อ.เมืองเชียงราย
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ให้การว่าได้ลักลอบเดินทางมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา แล้วเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยจ่ายเงินให้นายหน้าคนละ 20,000-30,000 บาท ซึ่งนายหน้าอ้างว่าจะพาไปทำงานที่ จ.เชียงใหม่ แล้วจะทำเอกสารต่างๆ เช่น หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต เอกสารการทำงานในประเทศไทย ให้เรียบร้อย แต่ต่อมาทั้งหมดกลับถูกส่งไปอยู่ที่อาคารร้างดังกล่าวโดยไม่มีงานทำเลยเป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว คาดว่าถูกหลอก จึงได้ประสานร้องทุกข์ไปยังศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ให้นำข้าวปลาอาหารไปให้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ
ด้านนายสืบสกุล กิจนุกร หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและที่ปรึกษาศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ก่อนมีแรงงานประสานมายังศูนย์ว่าช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติฯว่ากำลังเดือดร้อนเพราะถูกหลอกมาทิ้งไว้ระหว่างที่กำลังรอเอกสาร และกำลังขาดแคลนอาหาร ทางศูนย์จึงน้ำอาหารไปแจก
นายสืบสกุลกล่าวว่า ตราบใดที่สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของพม่ายังย่ำแย่ คนในพม่าก็จะยังหลั่งไหลเข้ามาหางานทำตลอด ขณะที่ประเทศไทยเองก็ยังขาดแคลนแรงงานในทุกสาขาการผลิตจึงต้องการแรงงนจากเพื่อนบ้าน แต่การนำเข้าแรงงานแบบเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่ามีปัญหาเนื่องจากฝั่งพม่ามีปัญหาเรื่องความพร้อมในการจัดเตรียมเอกสารเพราะสถานการณ์การเมืองจึงเป็นช่องว่างทางนโยบายและเกิดขบวนการชักชวนคนเข้ามาทำงานโดยอ้างว่าจะได้เอกสารแบบถูกต้อง แต่เมื่อเจอสภาพความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางออกคืออะไร นายสืบสกุลกล่าวว่า รัฐบาลไทยและพม่าต้องหารือกันเพื่ออุดช่องว่างทาง
นโยบาย โดยรัฐบาลเมียนต้องเข้าใจสภาพปัญหา เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไม่เป็นผลดีกับทั้งสองประเทศเพราะคนงานต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น โดยพม่าต้องมีนโยบายการส่งออกแรงงานที่เป็นระบบมากขึ้นโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดเตรียมเอกสาร
“รัฐบาลไทยเองก็ต้องไม่มองว่า แรงงานที่เข้ามาแสวงหางานทำในประเทศไทย แม้พวกเขาเข้ามาอย่างผิดกฏหมาย แต่พวกเขาไม่ใช่อาชญากร เป็นเพียงคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น รัฐบาลสองประเทศปลดล็อคได้ก็จะแก้ปัญหาค้านมนุษย์ได้ ถ้าไม่แก้ไขผลเสียก็จะเกิดกับสองประเทศ ขณะเดียวกันพวกเขาเป็นเพียงเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์แรงงาน ทุกครั้งที่จับได้ ผมเห็นมีแต่แรงงานที่ถูกจับ แต่ไม่ค่อยได้เห็นการสาวลึกไปถึงขบวนการค้ามนุษย์”นายกิจนุกร กล่าว