เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงราย – เครือข่ายคนลุ่มน้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำถึงท้ายน้ำจี้ไทยชะลอซื้อไฟฟ้าลาว ย้ำเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-ไฟฟ้าสำรองไทยมีเกิน 50% แถม MRC ยอมรับเอง “เขื่อนปางแบง” ทำน้ำเท้อ 10 กิโลฯ เสี่ยงไทยเสียดินแดน
เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 96 กิโลเมตร รวมถึงเขื่อนอื่นๆ ใน สปป.ลาว ได้ลงพื้นที่และพบปะกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกในการยับยั้งไม่ให้รัฐบาลไทยซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนที่ก่อสร้างดังกล่าวใน สปป.ลาว ตามกำหนดเดิม
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2565 ตัวแทนเครือข่ายฯ ได้มีหนังสือไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อขอให้ชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ที่ก่อสร้างในแม่น้ำโขงตรงเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย และเขื่อนหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบงนั้นทราบว่ายังอยู่ระหว่างจัดทำสัญญาซื้อขายระหว่างกัน จากนั้นการจะลงนามซื้อขายจะต้องมาจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
เนื่องจากเครือข่ายฯ ซึ่งประกอบด้วยประชาชน นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการและภาคประชาสังคม ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมากว่า 20 ปี เห็นว่าการสร้างเขื่อนปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เพียงพอ ขณะที่ภายในประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองสูงเกิน 50% และเศรษฐกิจโลกอยู่ระหว่างชะลอตัวทำให้อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมของชาวบ้านลุ่มน้ำโขง 8 จังหวัด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเส้นเขตแดนไทย-สปป.ลาว ในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนปากแบง
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มได้ส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีและในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเช่นกัน เพื่อขอให้ติดตามตรวจสอบผลกระทบจากเขื่อนปากแบงในด้านของการเปลี่ยนแปลงเขตแดนเพราะเขื่อนนี้จะตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยอย่างมาก รวมทั้งยังขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลด้านการศึกษาสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยเฉพาะต่อผลกระทบข้ามแดนด้วย
“แม้แต่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ที่มีสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นตัวแทนฝ่ายไทย ก็ยังเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องสภาวะน้ำเท้อ (Back Water Effect) จากเขื่อนปากแบงทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง โดยแสดงให้เห็นว่าขอบเขตของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนนี้จะล้ำเข้ามาในแม่น้ำโขงที่เป็นชายแดนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว กว่า 10 กิโลเมตร จนจะมีผลกระทบที่ชัดเจนต่อเส้นเขตแดนธรรมชาติในปัจจุบันและเสี่ยงต่อการเสียดินแดนของประเทศไทยด้วย”
นายนิวัฒน์กล่าวอีกว่า จากการรับฟังประชาชนและติดตามการวิเคราะห์เบื้องต้นทำให้มีความกังวลต่อพื้นที่บริเวณแก่งผาได และแก่งก้อนคำ บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น ซึ่งหากสูญเสียไปจะส่งผลกระทบอย่างมากเพราะเป็นพื้นที่ประมง จัดกิจกรรมงานประเพณีชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหรือแลนด์มาร์ก จ.เชียงราย จึงอยากให้มีการตรวจสอบผลกระทบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยด้วย