ตำรวจจับนักศึกษาและแอดมินเพจเชียงรายปลดแอก อ้างเอี่ยวป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid 19’ ผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ประกันตัว 1.5 แสนบาท ขณะที่เดือนที่แล้วที่ลำปาง ตร.แจ้งข้อหาเดียวกันกับ 5 นศ.-ปชช.
ภาพหมายจับที่แอดมินเชียงรายปลดแอกโพสต์
25 ก.พ.2564 จากกรณีเพจ ‘Free Youth CEI- เชียงรายปลดแอก’ โพสต์หมายจับในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมระบุว่า แอดมินโดนหมายจับในคดีดังกล่าว และว่าตำรวจมากันเป็นสิบ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาเพจ ‘Chiangrai No เผด็จการ’ รายงานสถานการณ์การจับกุมดังกล่าว การนำตัวไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย และการเข้าค้นห้องพักของผู้ถูกจับกุมดังกล่าว จนถึงการได้รับการประกันตัวน
ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์ เอ แอดมินเพจ ‘Chiangrai No เผด็จการ’ ซึ่งเป็นผู้ตามและรายงานกรณีการจับกุมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า ผู้ถูกจับกุมชื่อ แซน เป็นนักศึกษาหญิงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และแอดมินเพจ ‘Free Youth CEI- เชียงรายปลดแอก’
เอ ระบุสาเหตุที่ แซนถูกดำเนินคดีว่า เพราะถูกกล่าวหาว่าแชร์ภาพป้ายข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid 19” และข้อความดังกล่าวอยู่ใกล้ภาพ ร.10 แต่ตำรวจเชื่อว่า แซน มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติการกับป้ายนี้ จึงออกมายจับดังกล่าว
เอ เล่าว่า แซน ถูกจับที่หน้าที่พัก เวลาประมาณ 16.00 น. จากนั้นตำรวจนำตัวมา สภ.เชียงราย เดิมเตรียมเงินประกันตัว 150,000 บาท พร้อมอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายมาเป็นนายประกัน อีกทั้งระหว่างสอบสวนนั้นมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มา 1 คน และอาจจารย์ 1 คนมาร่วมรับฟังแต่ตำรวจให้พาไปค้นที่ห้องพักก่อน ถึงจะให้ประกันตัว ต่อรองกันอยู่นานจนที่สุดแซนยอมให้ตำรวจไปค้นห้องเวลา 21.00 น. ตำรวจจึงยึดของกลาง 3 อย่าง ประกอบด้วย เสื้อสีดำ รองเท้าสีดำและแมสปิดปากสีดำ
ภาพตำรวจเข้าค้นห้องพักพร้อมยึดเสื้อ รองเท้าและแมสสีดำ
เอ เล่าต่อว่า จากนั้นกลับมา สภ.เชียงราย แต่ตำรวจขอยึดโทรศัพท์ด้วย โดยอ้างหากไม่ให้ยึดจะใช้ข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ยื้อกันอยู่นานจนแซนให้โทรศัพท์กับตำรวจ ต่อมาได้ประกันตัววันที่ 26 ก.พ.64 เวลา 0.00 น. ด้วยเงินประกันตัว 150,000 บาท
เดือนที่แล้วที่ลำปาง ตร.แจ้งข้อหาเดียวกันกับ 5 นศ.-ปชช.
สำหรับการดำเนินคดีเกี่ยวกับป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน Covid 19” นอกจากกรณีนี้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำปาง นักศึกษาและประชาชนในจังหวัดลำปางรวม 5 ราย ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 63 ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยตำรวจยังมีขอเก็บและตรวจ DNA ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าด้วย
สำหรับผู้ถูกออกหมายเรียก 5 ราย ได้แก่ 1. พินิจ ทองคำ นักศึกษาวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และสมาชิกกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน, 2. วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสมาชิกกลุ่ม NU-Movement, 3. ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษาคณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 4. ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง และ 5. “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
คณะพนักงานสอบสวนซึ่งแต่งตั้งตามคำสั่งของตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง นำโดย พ.ต.ท.สืบสกุล ขุนเพิ่ม รองผู้กำกับสอบสวนสภ.เมืองลำปาง ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้ง 5 คน โดยได้มีการแยกห้องในการแจ้งข้อหาและสอบปากคำเป็นรายบุคคล
ข้อกล่าวหาระบุว่า ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เวรสืบสวน ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 63 เวลา 9.00 น. ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63 เวลา 9.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และข้อมูลร้องเรียนทั่วไปผ่านเว็บไซต์และเพจต่างๆ พบว่าเพจของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ได้โพสต์ภาพและข้อความกรณีมีการแขวนป้ายผ้าไว้ที่ราวสะพาน บริเวณกลางสะพานรัษฎาภิเศก พร้อมระบุข้อความว่า “เวลานี้ แกนนำกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน ขึ้นป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID 19’ บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง”
ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสภ.เมืองลำปาง, เจ้าหน้าที่สายตรวจเวร จึงไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จึงพบว่ามีการติดป้ายที่เขียนข้อความดังกล่าว ไว้บริเวณสะพานรัษฎาภิเษก จึงได้ร่วมกันตรวจยึดป้ายดังกล่าว นำส่งพนักงานสอบสวนสภ.เมืองลำปาง และมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดครั้งนี้ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 10 เรื่องการโฆษณาด้วยการปิดแผ่นประกาศในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหาดังกล่าวต่อทั้งห้าคน โดยอ้างการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณที่เกิดเหตุของช่วงวันเกิดเหตุ ทำให้เชื่อว่าทั้งห้าคนเกี่ยวข้องกับการติดป้ายดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป
พนักงานสอบสวนยังระบุว่าคดีนี้จำเป็นต้องมีการเก็บพยานหลักฐาน DNA โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่มารอไว้แล้ว จึงขอเก็บหลักฐานดังกล่าวจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าคน โดยทางตำรวจระบุว่าหากไม่ยินยอม อาจเป็นผลร้ายต่อผู้ถูกกล่าวหาเอง อีกทั้งยังกล่าวเสริมว่าหากเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล เมื่อได้ปรึกษากันแล้ว ทางกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาจึงยินยอมให้มีการตรวจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.5) โดยการเก็บตัวอย่าง DNA จากกระพุ้งแก้ม
นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ให้ทั้งหมดพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และให้ปล่อยตัวไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้ โดยนัดหมายมารายงานตัวกับทางตำรวจต่อไปในวันที่ 18 ก.พ. 64
กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 14.30 น. เนื่องจากมีการแยกห้องสอบสวน ทำให้ระยะเวลาที่ใช้ของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราวเร็วช้าไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าในการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการระบุว่าข้อความในป้าย ‘งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19’ เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร
ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชน 23 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 3 คดี ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว
สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป ‘เครือข่ายบรรพต’ จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี