ดูเหมือนว่าสถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ยังไร้หนทางแก้ไข ประชาชนยังต้องทนสูดอากาศที่ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจติดอันดับต้น ๆ ของโลก ภายใต้วิถีทางการแก้ไขแบบเดิม
เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ในปีถัดไปจะวนเวียนกลับมาเกิดเหตุการณ์เดิมไม่รู้จบ ซึ่งการเกิดฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือมีมานานกว่า 15 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่เคยเกิดปัญหาฝุ่นควันมาก่อน ที่สำคัญการตื่นตัวของประชาชนก็สูงขึ้นทุกปี มีการแก้ปัญหาหลายรูปแบบ กระทั่งผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดผ่านกระบวนการรัฐสภา แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
“ศาสตราจารย์นายแพทย์ชายชาญ โพธิรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางการหายใจคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นรุนแรง ซึ่งในระยะสั้นคือ
เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น ระยะยาวคือ อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM 2.5 ทุก ๆ 10 มคก./ลบ.ม.ของPM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น
ทำให้ชาวเชียงใหม่เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากโรคระบบการหายใจ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด และโรคติดเชื้อรุนแรง ส่วนในระยะยาวหากค่าเฉลี่ยรายปีเพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม.จะทำให้อายุขัยสั้นลงราว 1 ปี จากโรคเรื้อรังต่าง ๆ จนถึงมะเร็งปอด
จี้กลุ่มอุตสาหกรรมรับผิดชอบ
จากการวิเคราะห์ต้นเหตุของวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ในระดับประเทศในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี มาจากการเผาในภาคเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการเผาพืชไร่ ตั้งแต่การเตรียมแปลงเพาะปลูกและหลังการเก็บเกี่ยว
ซึ่งล้วนเป็นพืชเกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงการขยายอุตสาหกรรมเกษตรดังกล่าวไปในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ทำให้ฝุ่นควันได้ข้ามพรมแดนปกคลุมพื้นที่แทบทุกภาคของประเทศไทย แต่ภาคเหนือตอนบนจะได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่นทำให้คุณภาพชีวิตด้อยลงร่วมกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
“ศาสตราจารย์นายแพทย์ชายชาญ” กล่าวว่า ได้เสนอมาตรการแก้ไขโดยให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบมากกว่านี้ คือ 1.มีหน้าที่ต้องส่งเสริมและหาวิธีการกำจัดกัดซากหรือแปรรูปซากให้มีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าการเผา 2.ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรที่ปลูกบนที่ดินต้องห้ามหรือผิดกฎหมาย
และต้องระบุแหล่งเพาะปลูกชัดเจน 3.ไม่รับซื้อผลผลิตจากแปลงเกษตรที่มีการเผาซาก รวมถึงการเตรียมแปลงเพาะปลูกให้เหมาะสมกับกรรมวิธีกำจัดซากในข้อ 1
4.ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรสีเขียวอย่างเต็มที่ เช่น การทำเกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ การปลูกพืชเกษตรชนิดอื่น เช่น กาแฟ ไม้มีค่าชนิดต่าง ๆ ตามประกาศของรัฐและพิจารณาชดเชยรายได้ให้เกษตรกรช่วงที่รอผลผลิตจากการปรับเปลี่ยน
5.ให้บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ที่ไปลงทุนหรือดำเนินการเกี่ยวข้องในประเทศกัมพูชา-เมียนมา-และ สปป.ลาว ร่วมมืออย่างเคร่งครัด
6.ปรับวงจรรอบการเพาะปลูกเพื่อลดการเผาในที่โล่ง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ควบคู่ไปกับข้อ 1 และ 5 ข้อสุดท้ายคือ 7.รัฐต้องเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังเพื่อให้มีการควบคุมการเผาให้ได้ผลในการลดฝุ่น PM 2.5 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
ดันปัญหาเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ “พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมหารือกับคณะทำงานในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่
โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้อำนวยการศูนย์และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในจังหวัดและในพื้นที่ภาคเหนือเป็นกรรมการ
โดยปี 2564 ได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดเขตควบคุมการเผา และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง และประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง กำหนดมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาในที่โล่งทุกชนิด กำหนดเป็น 2 โซน ดังนี้
1.โซนใต้ ประกอบด้วยอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี อำเภอหางดง อำเภอแม่ออน อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564
2.โซนเหนือ ประกอบด้วยอำเภอฝางอำเภอแม่อาย อำเภอไชยปราการ อำเภอสะเมิง อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาวอำเภอพร้าว อำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอกัลยาณีวัฒนา และอำเภอสันกำแพง สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน 2564
ในการบริหารจัดการเมื่อมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในพื้นที่เกษตร ให้ประชาชนขออนุญาตจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อลงทะเบียนในระบบการจองการจัดการเชื้อเพลิงในเขตท้องที่นั้น ๆ
พร้อมทั้งจัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยประสานกับหน่วยงานควบคุมไฟป่าที่ใกล้ที่สุดเพื่อจัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมการดำเนินการดังกล่าวด้วยหากฝ่าฝืนจะมีโทษความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“การดำเนินการดังกล่าวยังมีปัญหาติดขัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอในการแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อจะได้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานต่อเนื่อง
ฟ2.เสนอให้รัฐทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการแก้ปัญหาไฟป่ากับประเทศเพื่อนบ้านคือ เมียนมาและ สปป.ลาว เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการระบว่าจุดฮอตสปอตในจังหวัดเชียงใหม่มีประมาณพันกว่าจุด ในขณะที่จุดฮอตสปอตในประเทศเพื่อนบ้านมีถึง 6,000 จุด” พลเอกวิทวัสกล่าว
3 จังหวัดค่าฝุ่นกระทบสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไฟป่าและการเผาในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ฝุ่นควันมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยถูกกระแสลมพัดเข้ามาตามชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สาย อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอเชียงแสน ฯลฯ จังหวัดเชียงราย
อย่างต่อเนื่องติดต่อกันมานานนับเดือน จังหวัดเชียงรายจึงขมุกขมัวไปด้วยหมอกควันโดยเฉพาะชายแดนด้านอำเภอแม่สาย กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากสำนักงานสาธารณสุข อำเภอแม่สาย พบค่าฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ในปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ
“นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง” สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงราย รายงานสถานะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 1-9 มีนาคม 2564 ว่า มีผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศดังกล่าวจำนวน 29,275 ราย
ช่วงที่เกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จึงขอให้ประชาชนได้ระมัดระวังดูแลสุขภาพให้ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่จะได้รับผลกระทบด้วย
“สิริรัฐ ชุมอุปการ” ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัด ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจ ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
และเขาไม้กระทู้ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากสถานการณ์ไฟป่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯในพื้นที่จุดความร้อน (hotspot) เกิดไฟป่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเกิดหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ซึ่งคุณภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-9 มีนาคม 2564 มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในช่วง 18-66 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม. โดยมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน50 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.รวมทั้งสิ้น 12 วัน
ด้าน “สิธิชัย จินดาหลวง” ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดได้จัดห้องเซฟโซน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเบื้องต้นแล้ว
หลังจากคุณภาพอากาศของจังหวัดแม่ฮ่องสอน วันที่ 11 มีนาคม 2564 โดย application AIR 4 THAI ดูแลโดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าปัจจุบันค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกประเภท หากมีความจำเป็นและมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA รายงานผลการเกิดจุดความร้อนจากดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS บันทึกข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564
สรุปจุดความร้อนรายประเทศ พบมากที่สุด สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 5,676 จุด ราชอาณาจักรกัมพูชา 2,213 จุด และประเทศไทย 2,197 จุด, สรุปจุดความร้อนประเทศไทย รวม 2,197 จุด พบมากที่สุด จังหวัดแม่ฮ่องสอน 560 จุด ตาก 359 จุด และเชียงใหม่ 341 จุด, สรุปจุดความร้อนภาคเหนือ รวม 1,763 จุด
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ในปี 2564 หมุนเวียนเป็นวงจรอีกครั้ง ในแต่ละปีจะเห็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาที่หมุนวน แบบเดิม ทว่า การแก้ไขปัญหาที่เป็นมิติใหม่เชิงบูรณาการที่ผูกพ่วงกับปัญหาทางการเกษตร
เชิงนโยบายระหว่างประเทศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนยังไม่ชัดเจน ที่รัฐบาลในฐานะเจ้าภาพหลักจะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม กลายเป็นการซื้อเวลาปีต่อปีที่ไร้วี่แววการขับเคลื่อนถึงแก่นของปัญหาที่แท้จริง