ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และ พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ประชุมติดตามการดำเนินงานฯ ประจำเดือนมีนาคม 2564 โอกาสนี้รับมอบเงินและสิ่งของสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มอบเงินสนับสนุนการก่อสร้างระบบไฟฟ้าและแสงสว่างของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง, สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน มอบสิ่งประดิษฐ์เครื่องอบแห้งลมร้อน 6 เครื่อง ซึ่งได้ติดตั้งแล้ว ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย พร้อมรับมอบอุปกรณ์กีฬา 40 ชุด จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนบนพื้นที่สูงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดโอกาสการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
มูลนิธิฯ ดำเนินงานตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มุ่งพัฒนาตามปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันเป็นเรื่องยาเสพติด ความสัมพันธ์ของครอบครัว สุขภาพผู้สูงอายุ การบุกรุกพื้นที่เพื่อขยายที่ทำกิน และสังคมที่เปลี่ยนไปของเยาวชน ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกับสำนักงาน ปปส. ภาค 5 ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชนบนพื้นที่สูงนำร่องในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ มีแนวทางเบื้องต้น ได้แก่ ฟื้นรูปแบบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สร้างการมีส่วนร่วม และเกิดประโยชน์ร่วมกัน สร้างความใกล้ชิดกับคนในชุมชนเพื่อเข้าถึงปัญหาที่แท้จริง ดำเนินกิจกรรมทางสังคม เช่น แลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดของกลุ่มเยาวชน สร้างความเท่าเทียมกันเพื่อนำไปสู่ชุมชนที่มีสุข มีความพอเพียง มั่นคง และยั่งยืน
ในช่วงบ่าย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ไปติดตามการดำเนินงานศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อนำพื้นที่ซึ่งเคยปลูกพืชเสพติดมาพัฒนาเป็นสวนไม้ผลเมืองหนาว ตลอดจนปลูกพืชผัก และเลี้ยงสัตว์ ต่อมาในปี 2526 จึงได้ย้ายที่ทำการฯ จากบ้านแม่ปูนหลวง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไปยังบ้านขุนแจ๋ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันพื้นที่ปฏิบัติงานครอบคลุมเขต อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย รวม 5 หมู่บ้าน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลาหู่ ลีซู อาข่า และจีนยูนนาน รวม 946 ครัวเรือน 4,050 คน ดำเนินการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย GAP และเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วยพืชผัก ไม้ผล ชา กาแฟ รวม 30 ชนิด รายได้เฉลี่ยปีละ 128,500 บาทต่อคน ผลผลิตที่สำคัญ อาทิ ผัก พลับ ชา กาแฟ และบ๊วย ซึ่งขณะนี้เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลบ๊วย ไม้ผลชนิดแรกที่ได้รับพระราชทาน มีพื้นที่ปลูกกว่า 500 ไร่ จำหน่ายในระบบการตลาดโครงการหลวง ปีละกว่า 100 ตัน
โอกาสนี้ ยังได้เยี่ยมชมงานหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้าน และปลูกต้นกำลังเสือโคร่ง ซึ่งเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงเพาะกล้า และโรงคัดบรรจุผลผลิตของศูนย์ฯ ด้วย