เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
เชียงราย – แม้ ศบค.ไฟเขียวเปิดด่านถาวรทั่วประเทศแล้วตั้งแต่วันนี้..แต่ไม่รวมจุดผ่านแดนถาวรเหนือสุดในสยาม เชื่อมแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ล่าสุดเทศบาลฯ ได้แต่ล้างหน้าด่านฯ รอ
กรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) ได้มีมติให้เปิดจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 17 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ (1 พ.ค. 65) เป็นต้นไปนั้น ไม่ได้รวมจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย เชื่อมกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นช่องทางการค้า-การท่องเที่ยวเหนือสุดในสยาม ทำให้บริเวณหน้าด่านฯ ยังคงมีการปิดประตูและแผงกั้นเอาไว้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ได้นำจิตอาสาทำความสะอาดบริเวณด่านพรมแดนเนื่องในวันเทศบาลฯ เอาไว้แล้ว ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าตลาดชายแดนแม่สาย ตลอดจนชาวเมียนมาต่างเฝ้าติดตามข่าวสารความคืบหน้าในการปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ทั้งสองฝั่งประเทศที่เป็นญาติมิตรและเคยเดินทางติดต่อกันเป็นประจำกระทั่งมีการปิดด่านเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนเป็นต้นมา
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย กล่าวว่า การเปิดด่านพรมแดนทั้ง 17 แห่งดังกล่าวนั้นยังไม่มีรายชื่อของด่านที่ อ.แม่สายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางนายอำเภอแม่สายได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลและเสนอขอเปิดจุดผ่านแดนถาวรฯ ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 ไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.เชียงราย แล้ว
นอกจากนี้ยังได้ประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ จ.ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าทางเจ้าหน้าที่เมียนมาทั้งฝ่ายทหารโดยกองทัพภาคสามเหลี่ยม ศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฝ่ายปกครอง ฯลฯ ต่างก็เห็นด้วย ดังน้้นหากได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งทางพื้นที่ อ.แม่สายก็จะมีการประชุมหารือกับ จ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อเตรียมเปิดด่านฯ ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมของคณะทำงานฯ อ.แม่สายครั้งล่าสุด ได้มีการกำหนดวิธีการอนุญาตให้คนข้ามแดนตามมาตรการของ ศบค.คือ ตรวจอนุญาตเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตามมาตรฐาน การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK การกักตัว ฯลฯ รวมทั้งปรับลดจำนวนคนที่จะเข้าออกพรมแดนลงจากเดิมที่เคยกำหนดให้ข้ามได้วันละ 2,000 คน เหลือเพียง 1,000 คน หลังจากหน่วยงานทางสาธารณสุขแจ้งข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ตรงสะพานข้ามลำน้ำสายที่คับแคบทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจบุคคล