ที่นี่เป็นวัดที่ชาวไทใหญ่นิยมเรียกว่า วัดเงี้ยว ส่วนชาวเชียงรายเรียกว่า วัดจ๊างมูบ (ช้างหมอบ) บ้างก็เรียกว่าวัดตะละแม่ศรี ตามชื่อของผู้สร้าง นับเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความเก่าแก่คู่มากับการสร้างเมืองเชียงราย ซึ่งกล่าวกันว่าผู้สร้างวัดมิ่งเมืองแห่งนี้คือ เจ้านางตะละแม่ศรีพระมเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ธิดาของกษัตริย์พม่าเมืองหงสาวดี ดังนั้นในอดีตวัดมิ่งเมืองจึงเป็นวัดสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์ให้รุ่งเรือง ภายในวัดมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ พระวิหารไม้ลายคำศิลปะผสมผสานระหว่างไทยใหญ่และล้านนา กรุฝ้าเพดานแบบไตรภูมิและบาลีเป็นรูปหงส์ ถือเป็นวิหารไม้หลังเดียวในเชียงรายที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ส่วนภายในพระวิหารนั้นเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีมิ่งเมือง พระประธานของวัดซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว ศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์ 1 อายุกว่า 400 ปี ด้านหน้าพระวิหารมีบ่อน้ำโบราณ ชื่อว่า “บ่อน้ำช้างมูบ” มีโครงหลังคาเป็นรูปซุ้มโขงช้าง ประดับด้วยรูปปั้นของช้างทรงเครื่องหมอบหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนด้านหลังมีเจดีย์ศิลปะล้านนา เรียกว่า “พระธาตุมิ่งเมือง” ซึ่งประดับไว้ด้วยฉัตรสีทอง ตามศิลปะแบบพม่าเพราะเจ้านางตะละแม่ศรีผู้ทรงสร้างมีเชื้อสายพม่านั่นเอง พระธาตุนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวรณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เปิดทุกวันเวลา 08.00-16.30 น.สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 5371 1089